สวัสดีแฟนๆ HiFi Tower ทุกท่าน กลับมาพบกับพี่ธานี โหมดสง่า อีกเช่นเคย วันนี้เรามีลำโพงสุดคลาสสิกอย่าง Wharfedale Super Denton มารีวิวให้ฟังกัน จะบอกว่ารุ่นนี้ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากดีไซน์ย้อนยุคสุดเก๋ เสียงที่ได้ยังกระหึ่มเกินตัว รับรองว่าฟังเพลงไหนก็มันส์แน่นอน! และไม่น่าเชื่อว่า แบรนด์ Wharfedale จะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว.! พวกเขาเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 1932 ซึ่งตลอดเส้นทางอันยาวไกล Gilbert Briggs กับทีมวิศวกรของ Wharfedale ได้ให้กำเนิดนวัตกรรมใหม่ๆ ประดับไว้ในวงการเครื่องเสียงมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เป็นผู้ผลิตลำโพงแบรนด์แรกๆ ของโลกที่ทำลำโพง 2 ทางออกมา นอกจากนั้น ตลอดเวลาเกือบร้อยปีที่ผ่านมา Wharfedale ได้สร้างลำโพงออกมาหลายรุ่นที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก จนนับได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” พิเศษที่เกิดขึ้นในวงการลำโพงของช่วงเวลานั้นๆ
นับว่าโชคดีที่เจ้าของแบรนด์ Wharfedale ในปัจจุบันคือบริษัท IAG (International Audio Group) ยังคงรักษาและสานต่อความเป็นตำนานของแบรนด์ Wharfedale เอาไว้ด้วยการจัดทำโปรเจคพิเศษที่ชื่อว่า ‘Heritage Series’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นโปรเจคที่ย้อนกับไปหยิบเอาลำโพงรุ่นดังๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ Wharfedale ในอดีตช่วงปี ’60 – ’70 มารีบิวต์ออกมาใหม่ โดยมี Peter Comeau ไดเร็กเตอร์ฝ่ายอะคูสติกดีไซน์ของ IAG เป็นผู้ดูแลโปรเจคนี้
‘Super Denton’ การกลับชาติมาเกิดใหม่ของ Denton 3
Gilbert Briggs กับทีมวิศวกรของ Wharfedale ให้กำเนิด ‘Denton 3’ ขึ้นมาเมื่อ ปี 1971 ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากรุ่น Denton เวอร์ชั่นแรกที่ออกมาเมื่อ ปี 1967 โดยที่รุ่น Denton 3 ตัวนี้มีจุดเด่นมากๆ คือเป็น “ลำโพง Bookshelf ขนาดเล็กคู่แรกของโลก” ที่ออกแบบให้เป็นลำโพง 3-way แยกไดเวอร์สำหรับสร้างความถี่เสียงออกเป็น 3 ตัว.!
‘Super Denton’ เป็นลำโพงรุ่นใหม่ล่าสุดในอนุกรม ‘Heritage Series’ ของ Wharfedale ที่หยิบพิมพ์เขียวของรุ่น Denton 3 มาปัดฝุ่นขึ้นมาทำใหม่ โดยพยายามรักษารูปลักษณ์ภายนอกของดีไซน์ที่มีความคลาสสิกเอาไว้ ในขณะเดียวกัน Peter Comeau กับทีมออกแบบของ Wharfedale ยุคปัจจุบันได้ร่วมกันสังคายนาพื้นฐานการออกแบบทางด้านสมรรถนะของ Super Denton ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปทุกด้าน เพื่อให้ ‘Super Denton’ เป็นลำโพง Bookshelf ขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติถึงพร้อมทั้ง 2 ทาง นั่นคือ มีสมรรถนะสูงสุดเท่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถทำได้ และสอง – ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูคลาสสิกย้อนยุคตามสไตล์ของลำโพง vintage ครบถ้วนทุกประการ..
สร้างใหม่.. แต่หน้าตาย้อนยุค.!
นับถึงปัจจุบัน Wharfedale ทำลำโพงในซีรี่ย์ Heritage ออกมาแล้วทั้งหมด 5 รุ่น ด้วยกัน เริ่มจากรุ่น ‘Denton 80’ (ตัวซ้ายมือสุด) เป็นรุ่นแรกที่ถูกผลิตออกมาในซีรี่ย์ ‘Heritage Series’ ซึ่งเป็นรุ่นที่ทำออกมาเพื่อฉลองครบรอบ 80 ปี ของแบรนด์ ดีไซน์ออกมาโดยมีรุ่น Denton เวอร์ชั่นแรกที่ออกมาเมื่อ ปี 1967 เป็นต้นแบบ จากนั้นก็เป็นรุ่น Denton 85 (ตัวกลาง) ซึ่งทำออกมาฉลองครบรอบ 85 ปี ของแบรนด์ Wharfedale โดยปรับปรุงไดเวอร์เสียงแหลมขึ้นมาจากรุ่น Denton 80 ส่วนรุ่นที่สามคือ Linton ตามมาด้วยรุ่นที่สี่คือ Dovedale
รุ่น Linton และรุ่น Dovedale มีขนาดตู้ที่ใหญ่กว่า Denton พอสมควร ก่อนจะมาเป็นรุ่น Super Denton (ตัวขวาสุด) ตัวล่าสุดซึ่งออกแบบขึ้นมาโดยมีรุ่น Denton 3 ในอดีตเป็นต้นแบบ จะเห็นว่า ทุกรุ่นในตระกูล Heritage Series ที่ทำออกมาใหม่นี้จะมีหน้าตาที่ดูคลาสสิก ดีไซน์สไตล์ย้อนยุคทั้งนั้น
สามทาง.. กับตัวตู้ขนาดกระทัดรัด.!
ความสูงกับความลึกของตัวตู้ของ Super Denton ตัวนี้ถือว่าอยู่ในพิสัยเดียวกันกับลำโพงวางขาตั้งส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะมีก็แต่ “ความกว้าง” เท่านั้นที่มากกว่าพอสมควร ซึ่งลำโพงวางขาตั้งที่มีความสูงพอๆ กับ Super Denton คู่นี้มักจะมีหน้ากว้างอยู่ระหว่าง 15-19 ซ.ม. อย่างลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One ของผมก็มีหน้ากว้างอยู่ที่ 17 ซ.ม. เท่านั้น ในขณะที่หน้ากว้างของ Super Denton ขยายไปถึง 24.6 ซ.ม. ยกมาวางเทียบกันจะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่าง
ตู้แน่นมาก..!!
พอมีไดเวอร์มากขึ้นแต่ตัวตู้มีขนาดเล็ก สิ่งที่นักออกแบบลำโพงต้องให้ความระวังก็คือปัญหา “เรโซแนนซ์” หรือแรงสั่นของตัวตู้ที่เกิดขึ้นขณะที่ไดเวอร์ทั้งสามตัวทำงานพร้อมกัน ซึ่งนักออกแบบในทีมของ Peter Comeau เลือกวิธีแก้ปัญหาโดยใช้แผ่นไม้ที่ใช้ทำผนังตู้ที่มีความหนาแน่นต่างกัน คือใช้ไม้อัดที่มีความหนาแน่นสูงประกบอยู่ด้านในของแผ่นไม้ MDF ที่ประกอบเป็นตัวตู้ด้านนอก และใช้กาวชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับพลังงานสั่นสะเทือนในการเชื่อมต่อแผ่นไม้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้น พวกเขายังใช้เครื่องมือในการตรวจวัดผลแต่ละจุดบนผนังตู้ที่ต้องติดตั้งไดเวอร์ให้มีความต้านทานต่อแรงสั่นของไดเวอร์แต่ละตัว (ไดเวอร์ทั้งสามตัวสร้างเรโซแนนซ์ที่ความถี่ต่างกัน) โดยใช้เทคนิคในการดามโครงภายในเข้ามาเสริมและใช้วัสดุ damping ในบางจุดที่จำเป็น เป็นงานที่พยายามขจัด “สีสัน” ที่เกิดจากตัวตู้ออกไปให้หมดจดจริงๆ ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้ตัวตู้ของ Super Denton มีทั้งความแน่นและความหนักอยู่ในตัว จะรู้สึกได้จากการทดลองยก (น้ำหนักอยู่ที่ 9.2 กิโลกรัม ต่อข้าง)
Super Denton เป็นลำโพง ‘3-way standmount’ คือเป็นแบบวางขาตั้งที่ใช้ไดเวอร์ 3 ตัวช่วยกันสร้างความถี่เสียงตั้งแต่ 52Hz ถึง 20,000Hz ออกมา ผ่านทวีตเตอร์ทรงโดมขนาด 25 ม.ม. + มิดเร้นจ์ทรงโดมขนาด 50 ม.ม. และวูฟเฟอร์ขนาด 165 ม.ม.
ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในลำโพงรุ่น Dovedale ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่ในซีรี่ย์ Heritage ตัวโดมโค้งทำด้วยผ้าไหมที่ดูเหมือนโดมผ้าทั่วไป แต่จริงๆ แล้วไฮไล้ท์ของทวีตเตอร์ตัวนี้อยู่ที่ระบบแม่เหล็กที่ใช้ควบคุมการขยับตัวของโดมผ้า ซึ่งใช้เป็นแบบ ceramic magnet และมีช่องอากาศที่ด้านหลังไว้ช่วยกักเก็บพลังงานคลื่นที่เกิดขึ้นด้านในโดมเอาไว้ ไม่ให้ย้อนกลับไปต้านการเคลื่อนตัวของโดม ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยลดความเพี้ยนของความถี่สูงที่เกิดจากเรโซแนนซ์ของโดมทวีตเตอร์ลงไปได้มาก
โดมมิดเร้นจ์ตัวนี้ได้มาจากการพัฒนาซีรี่ย์ EVO4 ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอัพเกรดคุณภาพเสียงของ Denton 85 ให้ทะลุขึ้นไปสู่ความเป็นไฮเอ็นด์ฯ อีกระดับ เพราะมันเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการ “เชื่อมต่อ” ความถี่ที่ระดับอัปเปอร์มิดเร้นจ์ที่ส่งจากวูฟเฟอร์ไปที่ทวีตเตอร์ให้มีลักษณะที่ราบเรียบและ “มอบคืน” รายละเอียดส่วนที่หายไป นั่นคือความถี่ที่เป็น “โอเวอร์โทน” ของเสียงโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านอัปเปอร์มิดเร้นจ์ที่จะส่งต่อไปให้ทวีตเตอร์กลับคืนมา
วูฟเฟอร์ทรงกรวยขนาด 165 ม.ม. (6.5 นิ้ว) ที่ใช้ไดอะแฟรมทำมาจากเส้นใยเคฟล่าสานขึ้นรูป จึงให้ความแกร่งสูง ทีมออกแบบของ Wharfedale ให้ความสำคัญกับมิดเร้นจ์เป็นหลัก พวกเขาทำการจูนเสียงของวูฟเฟอร์ให้ทำงานร่วมกับปริมาตรอากาศภายในตู้เพื่อให้ได้ความถี่ตอบสนองของวูฟเฟอร์ที่เชื่อมต่อกับความถี่ระดับโลวเวอร์มิดเร้นจ์ที่ส่งลงมาจากมิดเร้นจ์ได้อย่างกลมกลืนที่สุด
แผงหลัง
พอขยับหมุนตู้ลำโพงเพื่อพิจารณาแผงหลังของ Super Denton ได้เห็นขั้วต่อสายลำโพงของลำโพงรุ่นนี้แล้วต้องร้องว้าววว..! เพราะถูกใจกับขั้วต่อสายลำโพงที่ให้มามาก มันบ่งบอกอะไรบางอย่าง ที่น่ายินดีสุดๆ ก็คือที่พวกเขาให้มาเป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์ ต่างจากรุ่น Denton 80 และ Denton 85 ที่ให้ขั้วต่อมาเป็นแบบไบไวร์ฯ มันดียังไง.? ให้มาเป็นแบบซิงเกิ้ลทำไมถึงน่ายินดี.?
จริงอยู่ว่า ขั้วต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ฯ ที่แยกเป็นสองชุด จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ลำโพงคู่นั้นสามารถ “ปรับปรุง” สมรรถนะของลำโพงให้สูงขึ้นได้ด้วยการใช้แอมป์สเตริโอ 2 ตัวแยกขับแบบไบแอมป์ แต่การที่จะทำให้ได้ถึงจุดนั้นจริงๆ ต้องใช้ความสิ้นเปลืองสูง ทั้งในส่วนของแอมป์กับสายลำโพงที่ต้องเหมือนกันทุกประการ และต้องใช้ปรีแอมป์ที่มีเอ๊าต์พุต 2 ชุด บวกกับสายสัญญาณระหว่างปรีแอมป์ไปเพาเวอร์ฯ ที่เหมือนกันอีก 2 คู่ ซึ่งน้อยคนที่จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ (*แต่ถ้าสามารถทำได้ ผลลัพธ์ทางเสียงมันคุ้มค่ามาก บอกเลย.!) พอมาถึงรุ่น Super Denton ที่ใช้ไดเวอร์มากถึง 3 ตัว ถ้าจะจัดเน็ทเวิร์คให้สามารถใช้แอมป์แยกขับไดเวอร์แต่ละตัวก็ต้องใช้ขั้วต่อสายลำโพงแยกเป็น 3 ชุด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าจะมีใครพยายามผลักดันสมรรถนะของลำโพงคู่นี้ให้ไปสุดทางจริงๆ ก็ต้องใช้เพาเวอร์แอมป์สเตริโอถึง 3 ตัวที่เหมือนกันทุกประการ และปรีแอมป์ที่ใช้ในระบบก็ต้องให้เอ๊าต์พุตที่เหมือนกันออกมาพร้อมกัน 3 ชุดบวกกับสายสัญญาณที่เหมือนกันอีก 3 คู่ ซึ่งหาปรีแอมป์ที่มีเอ๊าต์พุต 3 ชุดได้ยากมาก (แทบจะไม่มี.!) ด้วยเหตุนี้ ทีมออกแบบ Super Denton จึงใช้วิธีออกแบบวงจรเน็ทเวิร์คที่แยก 3 ทางเฉพาะภายในบนแผงวงจร แต่ทางอินพุตนั้นพวกเขาจับมันรวบกันเป็นชุดเดียว ผ่านขั้วต่อแบบซิงเกิ้ลฯ แค่ชุดเดียวอย่างที่เห็น ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็ทำให้การแม็ทชิ่งแอมป์กับ Super Denton ทำได้ง่ายขึ้นเยอะ แม้ว่าจะเล่นซนไม่ได้มากเท่ากับขั้วต่อสายลำโพงแบบแยกสองชุด แต่ขั้วต่อสายลำโพงชุดเดียวก็ทำให้ได้โทนเสียงออกมาตามที่ผู้ออกแบบอยากให้ได้ยินมากกว่า
อีกจุดที่บ่งชี้ถึงเจตนาในการออกแบบ นั่นคือ “ท่อระบายเบส” ที่ออกแบบให้เป็นท่อที่มีขนาดเล็กแต่เบิ้ลใช้ 2 ท่ออยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อ.? ถ้าต้องการระบายอากาศให้ได้เยอะๆ ทำไมไม่ทำเป็นท่อใหญ่ๆ ท่อเดียวไปเลย.?? เหตุผลก็เพราะว่า ท่อระบายอากาศที่มีขนาดเล็กจะทำให้รีดอากาศภายในตัวตู้ออกมาได้ “เร็วกว่า” ท่อขนาดใหญ่ ถ้าคำนวนแรงอัดอากาศภายในตู้ขณะที่ไดอะแฟรมถอยหลังได้ถูกต้อง และกำหนดขนาดท่อกับจัดวางตำแหน่งได้เหมาะสม จะทำให้การไหลเวียนของมวลอากาศในตู้มีความสอดคล้องกับมูพเม้นต์ของไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ที่ขยับตัวเดินหน้า–ถอยหลังตอบรับกับสัญญาณอินพุตได้ทัน เสียงเบสก็จะออกมากระชับ สะอาด ส่งผลต่อเนื่องไปถึงทรานเชี้ยนต์ของเบสก็จะดีตามไปด้วย..
ขั้วต่อสายลำโพง
ตัวขั้วต่อทำด้วยโลหะชุบทอง แม้ว่าจะมีขนาดที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็ดูแข็งแรง สามารถเชื่อมต่อกับขั้วต่อของสายลำโพงได้หลายรูปแบบ ให้การจับยึดขั้วต่อสายลำโพงได้แน่นหนาดี
ทดลองแม็ทชิ่งกับแอมป์
เข้าไปเช็คราคาที่หน้าเพจของ HiFi Tower ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพง Wharfedale ในเมืองไทย เห็นลงไว้ที่ 37,900 บาท / คู่ ถือว่าราคาไม่สูงเลยสำหรับลำโพงคู่นี้ อีกอย่าง พอราคาไม่สูงก็ทำให้หาแอมป์มาแม็ทชิ่งได้เยอะ พี่ธานีเลือกเฉพาะอินติเกรตแอมป์มาแม็ทฯ กับลำโพงคู่นี้ โดยเริ่มจากอินติเกรตแอมป์หลอดที่มีราคาประมาณห้าหมื่นกว่าบาทของ Dared รุ่น Saturn Signature (REVIEW) ก่อนเลย เพราะอยากรู้ว่าลำโพงคู่นี้จะไปกับแอมป์หลอดตัวเล็กๆ ได้มั้ย.? เชื่อว่ามีคนอยากรู้เยอะ
ผมเซ็ตอัพ Super Denton + Saturn Signature ไว้ที่ห้องรับแขก เพราะตัวแอมป์มีกำลังขับแค่ 25W เท่านั้น (ทั้ง 8 และ 4 โอห์ม) ซึ่งตอนเชื่อมต่อผมทดลองทั้งเอ๊าต์พุต 8 และ 4 โอห์มดูแล้ว ผมชอบเสียงที่ได้จากเอ๊าต์พุต 8 โอห์มมากกว่า จากที่ลองฟังแล้วพบว่า กำลังขับ 25W ของ Saturn Signature สามารถขับลำโพงคู่นี้ได้ในระดับที่น่าพอใจ (*รายละเอียดเสียงอ่านใน “สรุปเสียงของ Super Denton”)
อินติเกรตแอมป์ตัวที่สองที่ผมยกมาทดลองขับ Super Denton ตัวนี้เป็นแอมป์ที่ใช้ภาคขยาย class A/B ของ Arcam รุ่น Radia A5 (REVIEW) ซึ่งให้กำลังขับ 50W ที่ 8 โอห์มและเพิ่มเป็น 75W ที่โหลด 4 โอห์ม แม้ว่ากำลังขับของ A5 จะอยู่ในระดับที่ “ต่ำกว่า 50%” ของ “กำลังขับสูงสุด” ที่ลำโพงแนะนำคือ 120W / 2 = 60W ที่ 6 โอห์ม อยู่นิดหน่อย (ถ้าคำนวนไปที่ 8 โอห์ม ตัวเลขกำลังขับที่แนะนำจะต่ำกว่า 60 วัตต์ลงไปอีกนิดนึง) ซึ่งผลทางเสียงที่ออกมาก็เป็นไปตามตัวเลข นั่นคือ “ขับออก” สบายมาก.. และได้น้ำเสียงออกมาน่าฟังซะด้วย.! (*รายละเอียดเสียงอ่านใน “สรุปเสียงของ Super Denton”)
ลองขยับสมรรถนะของแอมป์ที่ใช้ขับ Super Denton ขึ้นมาอีกขั้น ด้วยกำลังขับข้างละ 75W ที่ 8 โอห์ม และขยับขึ้นไปเป็น 115W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม ของอินติเกรตแอมป์ LEAK รุ่น Stereo 230 ซึ่งอยู่ในระดับที่เกิน 50% ของกำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำไว้ ซึ่งผลที่ได้ยินนั้นปรากฏชัดเจนออกมาในประเด็นที่อิงอยู่กับ “กำลังขับ” ที่ลำโพงต้องการ คือเมื่อเจอกับแอมป์ที่มีสมรรถนะทางด้านกำลังขับที่คู่ควรกับความต้องการของมัน คุณสมบัติทางด้าน ไดนามิก, เวทีเสียง และ ไทมิ่ง ที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้ก็ขยับขึ้นไปอีกระดับอย่างชัดเจน.! (*รายละเอียดเสียงอ่านใน “สรุปเสียงของ Super Denton”)
อินติเกรตแอมป์ตัวต่อไปที่เข้ามาสลับแทน LEAK ‘Stereo 230‘ ก็คือ Audiolab รุ่น 9000A ซึ่งให้กำลังขับข้างละ 100W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม และ 160W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม ซึ่งเป็นแอมป์ที่มีตัวเลขกำลังขับอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับกำลังขับสูงสุดที่ผู้ผลิตลำโพงระบุไว้ ซึ่งผลทางเสียงที่ออกมามันก้าวข้ามคำว่า “ขับออก” ขึ้นไปสู่เสียงที่ “สด + สมจริง” (*รายละเอียดเสียงอ่านใน “สรุปเสียงของ Super Denton”)
ก่อนจะปิดการทดสอบครั้งนี้ ผมทดลองเอาอินติเกรตแอมป์ของ Rega รุ่น Aethos ซึ่งมีราคาสูงกว่าค่าตัวของ Super Denton หลายเท่า แต่ตัวเลขกำลังขับของ Aethos อยู่ที่ 156W ที่ 6 โอห์ม สูงกว่ากำลังขับสูงสุดที่ลำโพงคู่นี้แนะนำไว้เท่ากับ 36W ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่กำลังดี เกินนิดๆ จึงมั่นใจได้ว่าขับหมดจริงๆ และด้วยคุณภาพของแอมป์ที่สูงลิบระดับไฮเอ็นด์ฯ อย่าง Rega ตัวนี้ก็น่าจะทำให้เห็นได้ว่า ลำโพง Wharfedale ‘Super Denton’ คู่นี้สามารถโบยบินไปได้ไกลแค่ไหน..?? (*รายละเอียดเสียงอ่านใน “สรุปเสียงของ Super Denton”)
แหล่งต้นทางที่ใช้ทดสอบลำโพง Wharfedale ‘Super Denton’ คู่นี้ผมใช้ Roon nucleus+ ทำหน้าที่เป็นสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลงโดยดึงไฟล์เพลงมาจากสองแหล่งคือจาก NAS (PCM/DSD) กับสตรีมจาก TIDAL (PCM) โดยที่ผมจับคู่ Arcam รุ่น Radia ST5 ให้ทำหน้าที่เป็น endpoint ให้กับเอ๊าต์พุตของโปรแกรม Roon (*ST5 เป็น Roon Ready) แล้วส่งสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตป้อนให้กับอินติเกรตแอมป์ทุกตัวที่ผมสลับใช้ทดสอบในครั้งนี้
เซ็ตอัพตำแหน่ง
หลังจากจัดวาง Super Denton ทั้งสองข้างลงบนตำแหน่งเริ่มต้น (ห่างผนังหลัง = ความลึกของห้อง/3, ซ้าย–ขวาห่างกัน = 180 ซ.ม., นั่งฟังที่จุด sweet spot ) ในห้องทดสอบของผมแล้ว ผมใช้เวลาในการไฟน์จูนไม่ถึงชั่วโมงก็พบตำแหน่งที่ให้ค่าเฉลี่ยของเสียงที่น่าพอใจ จากการเซ็ตอัพครั้งนี้ผมพบว่า ลำโพงคู่นี้เซ็ตอัพไม่ยาก เสียงของมันค่อนข้างจะฟังง่าย มันให้เสียงที่มีความชัดเจนสูงมากโดยเฉพาะใน “ย่านเสียงกลาง” ซึ่งเป็นจุดที่ผมใช้สังเกตในการไฟน์จูนเสียง เลยทำให้ปรับจูนง่าย
ความสูงของขาตั้งอยู่ที่ 24 นิ้ว ซึ่งลำโพงคู่นี้ชอบขาตั้งที่มีมวลเบาถึงปานกลาง ผมทดลองใช้ขาตั้งของ Atacama รุ่น MOSECO XL600 (REVIEW) จับคู่กับลำโพง Super Denton คู่นี้ก็ได้เสียงออกมาดีน่าพอใจมากทั้งทางด้านโทนัลบาลานซ์และเวทีเสียง..
มีอีกเรื่องที่ต้องทดลอง คือในคู่มือของผู้ผลิตแนะนำวิธีเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้ไว้ 2-3 ประเด็น อย่างแรกคือให้วางลำโพงทั้งสองข้างในลักษณะที่ตัวทวีตเตอร์ของลำโพงทั้งสองข้างชิดเข้าด้านใน, อย่างที่สองคือแนะนำให้ทำการเอียงหน้าลำโพงทั้งสองข้างยิงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง (toe-in) ยิ่งวางห่างผนังหลังมากก็ให้เพิ่มมุมโทอินให้มากขึ้น และสามคือแนะนำให้ใส่หน้ากากไว้ตลอดเวลาเพราะเข้าจูนเสียงมาเผื่อกับการสวมหน้ากากด้วย
ซึ่งแนวทางการเซ็ตอัพที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ข้างต้นนั้นเป็นแนวทางที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของวงการไฮไฟฯ โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้ผลิตลำโพงยุคใหม่หลายๆ เจ้าก็ไม่ได้แนะนำให้โทอิน อันนี้ผู้ใช้ต้องทดลองเซ็ตอัพตามคู่มือแนะนำและเซ็ตอัพแบบไม่โทอินแล้วฟังเทียบกันดู ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น ส่วนการเซ็ตอัพในห้องฟังของผม เมื่อเซ็ตอัพตามลักษณะที่คู่มือแนะนำ ผมพบว่า เสียงแหลมจะมีปริมาณที่เยอะและชี้ชัดมากเกินไป เมื่อลองสลับข้างให้ทวีตเตอร์ชี้ออกด้านนอกแล้วให้มิดเร้นจ์ชี้เข้าด้านใน ผมกลับชอบเสียงโดยรวมที่ออกมามากกว่า โดยเฉพาะเสียงกลางที่เข้มข้นมากกว่าและให้โฟกัสที่นิ่งสนิทมากกว่า ส่วนการเซ็ตอัพตำแหน่งเพื่อหาระยะห่างซ้าย-ขวาสำหรับลำโพงคู่นี้ ผมอ้างอิงกับเสียงร้องทั้งของนักร้องชายและนักร้องหญิง โดยปรับระยะซ้าย–ขวาจนกว่าจะได้เสียงร้องโฟกัสคมที่สุด หลังจากได้ตำแหน่งลงตัวแล้ว ผมวัดระยะห่างซ้าย–ขวาได้ 173.5 ซ.ม. ทั้งสองข้างห่างผนังด้านหลัง 176 ซ.ม. ส่วนระยะนั่งฟังห่างจากระนาบลำโพงออกมาประมาณ 3 เมตรนิดๆ เป็นระยะการเซ็ตอัพที่ผมชอบมากที่สุดในห้องฟังของผม
สรุปเสียงของ Super Denton
ทีมออกแบบลำโพงคู่นี้พยายามจูนความถี่ต่ำที่เกิดขึ้นภายในตัวตู้แล้วปล่อยออกทางท่อระบายเบสทั้งสองท่อที่ยิงออกทางด้านหลัง ทำให้ฐานเบสของวูฟเฟอร์สามารถลาดลงไปแบบราบเรียบได้ถึง 40Hz ครอบคลุมลงไปถึงโน๊ตตัวต่ำสุดของเบสกีต้าร์ (ดีดสายเดี่ยวเส้นบนสุด) คือตัว E1
จากภาพชาร์ตด้านบนนี้ เส้นสีเขียวคือจุดตัดโลวพาส (เส้นซ้าย) + ไฮพาส (เส้นขวา) ของวงจรเน็ทเวิร์คที่ใช้กับรุ่น EVO 4.4 ส่วนเส้นสีแดงคือจุดตัดโลวพาส (เส้นซ้าย) +ไฮพาส (เส้นขวา) ของวงจรเน็ทเวิร์คที่ใช้กับรุ่น Super Denton ส่วนพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นตรงทั้งสองเส้นก็คือเร้นจ์ของความถี่ที่ไดเวอร์โดมมิดเร้นจ์รับหน้าที่สร้างออกมานั่นเอง ซึ่งจะเห็นว่า โดมมิดเร้นจ์ของรุ่น Super Denton ถูกกำหนดให้สร้างความถี่ในเร้นจ์ที่ “กว้างกว่า” ในรุ่น EVO 4.4 ซึ่งความถี่ส่วนที่โดมมิดเร้นจ์ในรุ่น Super Denton ทำได้มากกว่านั้นจะไปอยู่ทางด้านล่างซึ่งเป็นเร้นจ์ความถี่ที่เชื่อมต่อกับความถี่ด้านบนที่สร้างขึ้นมาโดยตัววูฟเฟอร์ และอยู่ในช่วงความถี่ที่เป็นเสียงร้องของนักร้องหญิงช่วงโน๊ตสูงๆ
สรุปแล้ว ไดเวอร์โดมมิดเร้นจ์ขนาด 2 นิ้ว ของ Super Denton ถูกกำหนดให้ทำงานในช่วง “มิดเร้นจ์” ขึ้นไปทาง “อัปเปอร์มิดเร้นจ์” ซึ่งส่งผลกับเสียงร้องตอนบนๆ ของนักร้องหญิง ส่วนช่วงโลว์มิดเร้นจ์ (กลางต่ำ) ลงไปถึงย่านเบสตอนกลาง (bass band หรือ mid bass) ซึ่งครอบคลุมเสียงร้องของนักร้องหญิงในย่านโน๊ตกลางๆ ลงไปถึงโน๊ตต่ำๆ กับครอบคลุมเสียงร้องของนักร้องชายทั้งหมดถูกทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่ของวูฟเฟอร์กับท่อระบายเบสช่วยกันทำหน้าที่ไป
เพลงที่พี่ธานีใช้ทดสอบ
หลังจากลองฟังเสียงของนักร้องชายทั้ง 4 คนนี้ไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาฟันธงได้เลยว่า ลำโพงรุ่น Super Denton คู่นี้ให้เสียงในย่าน “กลางลงไปถึงกลางต่ำ” ออกมาดีมาก.! ใครชอบฟังเสียงร้องของนักร้องชายคุณจะแฮ้ปปี้กับลำโพงคู่นี้มากเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดในกระบวนการแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูน คุณจะได้ยินเสียงร้องของนักร้องชายที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมเกินระดับราคาของลำโพง Wharfedale ‘Super Denton’ คู่นี้ไปไกลเลย.!
เสียงนักร้องชายเหรอ.. ลำโพงไหนๆ ก็ทำได้มั้ย.? ก็ใช่ครับ.. ความถี่ในช่วงประมาณ 60Hz – 500Hz ที่เป็นเร้นจ์เสียงของนักร้องชายเป็นเร้นจ์ความถี่ที่ลำโพงไหนๆ ก็สามารถสร้างออกมาได้ทั้งนั้น แต่ในชีวิตจริง ถ้าคุณเคยทดลองฟังเสียงของลำโพงมาเยอะพอ คุณจะพบว่า ถ้าเอาเสียงร้องของนักร้องชายทั้ง 4 คนข้างต้นนั้นไปลองฟังผ่านลำโพงแต่ละคู่ คุณจะได้ลักษณะเสียงออกมาต่างกัน “ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” เสมอ.. ที่ผ่านมาสามารถพูดได้เลยว่า ถ้าเป็นลำโพงคนละรุ่น ต่อให้ใช้ไดเวอร์เหมือนกัน ราคาเท่ากัน ก็ไม่มีทางที่จะให้เสียงร้องของนักร้องชายออกมา “เหมือนกัน” ร้อยเปอร์เซ็นต์.!!
เสียงร้องของนักร้องผู้ชายมีอะไรให้ต่างกัน? ความแตกต่างมันไม่ได้อยู่ที่ “ความถี่” แต่มันอยู่ที่ “ความแน่น” กับ “โทนของเสียง” ซึ่งความแน่นที่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดจาก “ความเข้มข้น” ของมวลเสียงที่ลำโพงสร้างขึ้นมา ซึ่งถ้าลองฟังเสียงของนักร้องสีผิวอย่าง Nat King Cole หรือ Tony O’Malley กับลำโพง 2 ทางทั่วไปที่มีขนาดวูฟเฟอร์เท่ากับลำโพง 3 ทางอย่าง Super Denton คู่นี้ คุณจะรับรู้ถึงความแตกต่างได้เลยว่า ลำโพง 3 ทางให้เนื้อมวลของเสียงนักร้องผู้ชายทั้งสองคนข้างต้นออกมาในลักษณะที่ “หนาและแน่น” กว่าลำโพง 2 ทางที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาดเท่ากันค่อนข้างชัดเจน
เหตุผลทางเทคนิคการออกแบบก็บ่งชัด ยกตัวอย่างเทียบกับรุ่น Denton 85 ก็ได้ ถ้าหยิบสเปคฯ ของรุ่น Denton 85 กับรุ่น Super Denton ขึ้นมาวางเทียบกัน แล้วสังเกตไปที่ตัวเลข “ความถี่ตอบสนอง” (แถบสีเขียว) ซึ่งจะเห็นว่า ทั้งสองรุ่นนี้มีเร้นจ์ของความถี่ตอบสนองต่างกันแค่ 7Hz ในย่านทุ้มในขณะที่ทางด้านแหลมตอบสนองได้เท่ากัน โดยที่รุ่น Denton 85 ตอบสนองความถี่ทางด้านทุ้มลงไปได้ลึกกว่า Super Denton แต่ก็ถือว่าไม่ต่างกันมาก ไม่ค่อยมีนัยยะสำคัญที่เกี่ยวกับเสียงมากนัก
ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเสียงมากกว่าก็คือ “จุดตัดความถี่” (แถบสีฟ้า) จะเห็นว่า รุ่น Denton 85 กำหนดจุดที่กำกับไว้ให้วูฟเฟอร์ทำงานอยู่ในช่วงตั้งแต่ 3100Hz ลงไปจนถึง 45Hz ในขณะที่วูฟเฟอร์ของรุ่น Super Denton มีพิสัยในการสร้างความถี่ที่ “แคบกว่ามาก“ นั่นคืออยู่ในช่วงตั้งแต่ 940Hz ลงไปจนถึง 40Hz ซึ่งมีข้อสังเกตว่า วูฟเฟอร์ที่ใช้ในลำโพงทั้งสองรุ่นนี้เป็นไดเวอร์ขนาดเท่ากัน วัสดุที่ใช้ทำไดอะแฟรมก็เป็นวัสดุประเภทเดียวกัน โดยรวมๆ แล้วจะเรียกว่าเป็นไดเวอร์ตัวเดียวกันก็ว่าได้ แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในลำโพงรุ่น Denton 85 กับรุ่น Super Denton ไดเวอร์ตัวนี้กลับถูกกำหนดให้มีพิกัดในการสร้างความถี่แตกต่างกัน
พิสัยการทำงานแคบกว่าแล้วเป็นไง? ด้วยพื้นที่ของไดอะแฟรมเท่ากัน แต่รับภาระในการสร้างความถี่ในเร้นจ์ที่แคบกว่า มีผลให้ไดเวอร์ตัวนั้นสามารถปั๊มอากาศสร้างความถี่ในย่านที่รับผิดชอบออกมาได้ “ดังกว่า” โดยไม่เกิดโอเว่อร์โหลดจนความเพี้ยนเพิ่มขึ้น และเมื่อความถี่ที่อยู่ในเร้นจ์ของเสียงร้องของนักร้องผู้ชายถูกปั๊มออกมาได้แรงขึ้น จึงเป็นผลให้เนื้อมวลของเสียงร้องผู้ชายมีความเข้มข้นสูงขึ้นนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีไดเวอร์มิดเร้นจ์เข้ามาช่วยแบ่งภาระในการสร้างความถี่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการลดโหลดของทั้งวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ไปพร้อมกัน มีผลทำให้สามารถเปิดวอลลุ่มได้ดังมากขึ้น อันนี้ดูได้จากสเปคฯ “Peak SPL” (แถบสีแดง) จะเห็นว่ารุ่น Super Denton ให้ความดังสูงสุด (พีค) ออกมาได้สูงกว่ารุ่น Denton 85 ถึง 8dB ถือว่าไม่น้อยเลย ซึ่งลำโพงที่เปิดอัดได้ดังกว่าก็มักจะให้ “ความควบแน่น” ของเสียงมากกว่าโดยทฤษฎี